Renner, Karl (1870-1950)

นายคาร็ล เรนเนอร์ (พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๙๓)

 คาร์ล เรนเนอร์ เป็นนักกฎหมาย นักการเมืองสังคมนิยมและรัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงชาวออสเตรีย เขามีบทบาทโดดเด่นในการสร้างชาติหลังสงครามโลกถึง ๒ ครั้ง คือเป็นนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐออสเตรียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๐ และเป็นประธานาธิบดีคนแรกของออสเตรียหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๔๕-๑๙๕๐ นอกจากนี้ เขายังเป็นผู้แทนออสเตรียในการเจรจาจัดทำสนธิสัญญาแซงแชร์แมง (Treaty of Saint Germain)* ค.ศ. ๑๙๑๙ ระหว่างออสเตรียกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๓๔ และได้ดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาของออสเตรียระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๑-๑๙๓๓ หลังเหตุการณ์ผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ เรนเนอร์ยุติบทบาททางการเมืองชั่วคราว และใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเขียนหนังสือจนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลง เขาจึงกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง

 เรนเนอร์เกิดในครอบครัวเกษตรกรไร่องุ่น เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๗๐ ที่เมืองอุนเทอร์ทันโนวิทซ์ [ (Unter-Tannowitz) ปัจจุบันคือ เมืองดอลนีดูนาโยวิช (Dolni Dunajovice) ในสาธารณรัฐเช็ก] ในแคว้นโมเรเวีย (Moravia) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungary)* เขาเป็นบุตรคนที่ ๑๗ หรือ ๑๘ ของครอบครัวเรนเนอร์ เนื่องจากมีฐานะยากจนและมีบุตรมากประกอบกับประสบวิกฤตการณ์ด้านการเกษตรที่ทำให้ราคาพืชผลตกตํ่าและเสียภาษีสูง บิดาจึงได้สูญเสียบ้านและที่ดินไปครอบครัวนี่ต้องแยกย้ายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ โดยประกอบอาชีพแตกต่างกันออกไปซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในยุโรปกลางและยุโรปตะวันออกในช่วงเปลี่ยนผ่านจากคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ สู่คริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ในช่วงที่บิดามารดาย้ายไปพำนักอยู่ในบ้านพักคนอนาถา เรนเนอร์ซึ่งเป็นเด็กเฉลียวฉลาดและเรียนเก่งมากก็สามารถสอบเข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมที่เมืองนิโคลบูร์ก (Nikolburg) ได้และสำเร็จการศึกษาโดยได้รับเกียรติบัตรเรียนดี ใน ค.ศ. ๑๘๙๐ เขาเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยเวียนนาโดยเลือกเรียนวิชากฎหมาย ระหว่างที่ศึกษาอยู่นั้น เรนเนอร์ซึ่งสนใจในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอย่างมากได้ร่วมมือกับเพื่อนนักศึกษาและปัญญาชนบางคนจัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติชื่อ “มิตรของธรรมชาติ” (Naturfreunde - Friends of Nature) ขึ้นในมหาวิทยาลัยใน ค.ศ. ๑๘๙๕ ต่อมากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาตินี้ได้เข้าเป็นสาขาหนึ่งขององค์การอนุรักษ์ธรรมชาติที่จัดตั้งขึ้นในสหรัฐอเมริกาใน ค.ศ. ๑๙๑๒ ซึ่งมีสมาชิกจากประเทศต่าง ๆ จำนวนหลายแสนคนทั่วโลก

 หลังสำเร็จการศึกษาใน ค.ศ. ๑๘๙๖ แล้ว เรนเนอร์เข้ารับราชการเป็นบรรณารักษ์หอสมุดรัฐสภาแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ทำให้เขามีโอกาสค้นคว้าและเริ่มเขียนหนังสือและบทความเกี่ยวกับกฎหมายโดยใช้นามแฝงต่าง ๆ ขณะเดียวกันเขาก็สนใจการเมืองเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการเมืองในแนวสังคมนิยม ในปีเดียวกันเรนเนอร์เข้าเป็นสมาชิกพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยแห่งออสเตรีย (Social Democratic Workers’ Party of Austria-SDAP) และเข้าร่วมกิจกรรมของพรรคอย่างแข็งขัน กิจกรรมที่เขาทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างมากคือ การแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยเรนเนอร์มีหลักการที่ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติว่าเส้นเขตแดนของแต่ละชาติมิได้แสดงว่าประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในเส้นเขตแดนนั้นจะรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกันเสมอไป หากต้องนำความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนเหล่านั้นมาพิจารณาว่าพวกเขารู้สึกอย่างไรด้วย แนวความคิดของเรนเนอร์ที่เน้นเรื่องเชื้อชาติเดียวกันนี้ในเวลาต่อมาได้รับความนิยมแพร่หลายในหมู่สมาชิกรัฐสภาถึงกับมีการจัดตั้งแนวร่วมจำนวนมากที่ยึดถือแนวทางเดียวกัน

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ เรนเนอร์ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกรัฐสภาแห่งจักรวรรดิ (Reichrat) ในฐานะผู้แทนจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยแห่งออสเตรีย เขาเป็นผู้แทนอยู่จนถึง ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีถูกยุบเลิกลง ในช่วงนี้ เรนเนอร์ให้ความสนใจในเรื่องการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมจากฐานรากด้วย เขาจึงเข้าร่วมกิจกรรมของสหกรณ์หลายแห่ง และใน ค.ศ. ๑๙๑๐ เรนเนอร์ได้เขียนหนังสือ ๒ เรื่องเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์คือ Landwirtschqftliche Genossenschaften (ระบบสหกรณ์การเกษตร) และ Konsumvereine (สหภาพผู้บริโภค) การทุ่มเททำงานในด้านสหกรณ์ส่งผลดีแก่เรนเนอร์เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากทำให้เขาได้รับการยอมรับนับถือและการสนับสนุนจากบรรดาเกษตรกรและแรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการแล้ว ยังได้ช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของเขาภายในพรรคว่า เขาเป็นผู้ที่ไม่นิยมการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงในแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์แม้ว่าเขาจะกล่าวยํ้าอยู่เสมอว่าเขาเป็นนักลัทธิมากซ์หรือมาร์กซิสต์ (Marxist) ก็ตาม แต่ก็เป็นมาร์กซิสต์ในรูปแบบของตนเอง

 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ ใน ค.ศ.๑๙๑๔ เรนเนอร์ สนับสนุนฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ซึ่งมีเยอรมนีและออสเตรีย-ฮังการีเป็นมหาอำนาจหลักเขามีความคิดเช่นเดียวกับนักสังคมนิยมส่วนใหญ่ในเยอรมนีและออสเตรียที่สนับสนุนการขึ้นมามีอำนาจของยุโรปกลางภายใต้การนำของชนที่พูดภาษาเยอรมัน โดยมองข้ามปฏิกิริยาของมหาอำนาจตะวันตกที่ปฏิเสธการครอบงำโดยชนที่พูดภาษาเยอรมันในต้น ค.ศ. ๑๙๑๖ เรนเนอร์เข้าร่วมในการเจรจากับบรรดานักสังคมนิยมเพื่อจัดตั้งสหภาพเศรษฐกิจแห่งยุโรปกลาง (Mitteleuropaeischer Wirtschaftsbund - Central European Economic Union) ซึ่งจะนำไปสู่การเป็นเขตการค้าเสรีในอนาคต แต่เขาไม่เห็นด้วยกับการจัดตั้งสหภาพการเมืองและการทหารในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ดีสหภาพดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะการรบในสมรภูมิดำเนินไปอย่างดุเดือด อีกทั้งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีก็อยู่ในสภาพที่อ่อนแอและแตกแยก

 หลังสงครามสิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายมหาอำนาจกลางพร้อม ๆ กับการล่มสลายของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี และราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* เรนเนอรีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในสาธารณรัฐออสเตรียครั้งที่ ๑ ที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกและได้ควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ต่อมาในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๙ เขาได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนออสเตรียเข้าร่วมการเจรจาสันติภาพที่ปราสาทแซงแชร์แมง-ออง-เลย์ (Saint Germain-en-Laye) ในฝรั่งเศส และได้ลงนามในสนธิสัญญาแซงแชร์แมงร่วมกับผู้แทนมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ ๑๐ กันยายน สนธิสัญญาดังกล่าวซึ่งผ่านการให้สัตยาบันในรัฐสภาแห่งชาติออสเตรียในวันที่ ๒๑ ตุลาคม สร้างความผิดหวังให้แก่เรนเนอร์เป็นอย่างมาก เพราะสนธิสัญญาฉบับนี้ไม่ยอมให้รัฐออสเตรียที่จัดตั้งขึ้นใหม่ใช้ชื่อ “เยอรมันออสเตรีย” (Deutschösterreich - German Austria) ตามที่เรนเนอร์และนักการเมืองออสเตรียส่วนใหญ่ต้องการและวางแผนไว้แล้ว แต่ให้ใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐออสเตรีย นอกจากนี้ ยังห้ามการรวมตัวกันระหว่างเยอรมนีกับออสเตรียในอนาคตไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวกันในทางเศรษฐกิจหรือการเมืองก็ตาม ทั้งยังมีบทลงโทษออสเตรียอีกหลายประการ เช่น การที่ออสเตรียต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่มหาอำนาจผู้ชนะสงครามในจำนวนสูง การจำกัดกำลังกองทัพของออสเตรียให้เหลือน้อยลง และที่สำคัญที่สุดก็คือการตัดแบ่งอาณาเขตพื้นที่ของจักรวรรดิออสเตรียและของราชวงศ์ฮับส์บูร์กให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้ออสเตรียต้องสูญเสียดินแดนที่ประชากรพูดภาษาเยอรมันในแคว้นทีโรลใต้ (South Tyrol) โบฮีเมีย (Bohemia) ไซลีเซีย (Silesia) และโมเรเวียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเรนเนอร์ ให้แก่ประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ ข้อห้ามการรวมตัวกันระหว่างออสเตรียกับเยอรมนีและการสูญเสียดินแดนดังกล่าวทำให้ความฝันของเรนเนอร์ที่จะรวมดินแดนที่ประชากรพูดภาษาเยอรมันเข้าด้วยกันต้องสูญสลายลงทั้งยังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สาธารณรัฐออสเตรียที่เกิดใหม่หลังสงครามอ่อนแอลง

 อย่างไรก็ดี เรนเนอร์ก็มีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเป็นอย่างมาก ตลอดระยะเวลาเกือบ ๒ ปีที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เรนเนอร์สามารถควบคุมรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยแห่งออสเตรียที่เขาเป็นหัวหน้า กลุ่มสังคมประชาธิปไตย (Social Democrats) และพรรคสังคมคริสเตียน (Christian Social Party) ได้ถึง ๓ รัฐบาล เขาเป็นนักการเมืองสังคมนิยมที่ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยรัฐสภาและอยู่ในกลุ่มฝ่ายขวาของพรรคสังคมนิยมที่มุ่งเน้นการปฏิบัติให้บังเกิดผลมากกว่าทฤษฎี เขามีส่วนร่วมในการก่อร่างสร้างประเทศให้เป็นสาธารณรัฐหลายประการ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่การออกกฎหมายที่สำคัญ ๆ หลายฉบับ รวมทั้งกฎหมายราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg Law) ซึ่งขับสมาชิกราชวงศ์ฮับส์บูร์กทั้งหมดออกจากออสเตรียยกเว้นแต่ผู้ที่ยินยอมลาออกจากฐานันดรศักดิ์และดำรงสถานภาพพลเมืองหรือสามัญชน นอกจากนี้ เขายังวางพื้นฐานการปฏิรูปสังคมออสเตรียในด้านต่าง ๆ แต่ในที่สุด เรนเนอร์พร้อมทั้งรัฐมนตรีสังคมนิยมในพรรคของเขาก็ต้องลาออกจากตำแหน่งในวันที่ ๗ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๐ เนื่องจากเกิดความขัดแย้งในรัฐบาล

 หลังจากนั้น เรนเนอร์ก็สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเขาก็ได้รับเลือกติดต่อกันหลายสมัยระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๐-๑๙๓๔ ในช่วงนี้ เขาทำงานทางการเมืองในรัฐสภาอย่างแข็งขันจนได้รับแต่งตั้งเป็นประธานรัฐสภาใน ค.ศ. ๑๙๓๑ และดำรงตำแหน่งนี้มาจนรัฐสภาถูกยุบใน ค.ศ. ๑๙๓๓ อย่างไรก็ดี ความวุ่นวายทางการเมืองภายในของออสเตรียในสมัยเองเงลแบร์ท ดอลล์ฟุสส์ (Engelbert Dollfuss)* เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๓๒-๑๙๓๔ ซึ่งก้าวเข้าสู่ระบบอัตตาธิปไตยที่นิยมลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ของเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำอิตาลี ก็ทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยแห่งออสเตรียและพรรคการเมืองอื่น ๆ ถูกยุบลงใน ค.ศ. ๑๙๓๔ คงเหลือแต่เพียงแนวร่วมปิตุภูมิ (Fatherland Front) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลแต่เพียงพรรคเดียว หลัง ค.ศ. ๑๙๓๔ เรนเนอร์จึงทำงานต่อสู้ทางการเมืองนอกรัฐสภาต่อมา

 หลังการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนีเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ เรนเนอร์ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเขาเป็นต้นคิดนโยบายการรวมออสเตรียเข้ากับเยอรมนี รวมทั้งเป็นคนแรก ๆ ที่ใช้ศัพท์ “Anschluss” ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยังไม่ยุติลง ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ Wiener Tagblatt ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๓๘ แสดงความเห็นว่า เขาพึงพอใจกับการผนวกประเทศทั้งสองเข้าด้วยกันแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการบีบบังคับของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Workers’ Party; Nazi Party)* ที่ดำเนินการผนวกโดยการใช้กำลังกองทัพ อย่างไรก็ดี เขาก็ยังกล่าวสนับสนุนว่าเหตุการณ์นี่เป็นความจริงทางประวัติศาสตร์ไปแล้วและเป็นการกู้หน้าและเกียรติยศของรัฐเยอรมันทั้งสองที่ถูกยํ่ายีโดยสนธิสัญญาแซงแชร์แมงและสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ทั้งยังยํ้าว่าเขาสนับสนุนการผนวกนี้ในฐานะที่เขาได้ต่อสู้เพื่อหลักการสิทธิของชนชาติใด ๆ ที่สามารถเลือกทางเดินของตนได้มาอย่างยาวนานและในฐานะที่เป็นรัฐบุรุษชาวออสเตรียที่พูดภาษาเยอรมัน อย่างไรก็ตาม การให้สัมภาษณ์นี้รวมทั้งการแสดงออกของเรนเนอร์ที่มีต่อเหตุการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้สร้างความพึงพอใจให้แก่ฮิตเลอร์และนาซีออสเตรียแต่อย่างใด ตลอดช่วง ค.ศ. ๑๙๓๘-๑๙๔๕ เรนเนอร์ถูกกักตัวให้อยู่ในบริเวณบ้านของเขาที่เมืองกลอกก์นิตซ์ (Gloggnitz) แต่ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างดีพอสมควรจากรัฐบาลนาซี เขาใช้ เวลาในการเขียนหนังสือและบทความทางด้านกฎหมายรัฐศาสตร์ และสังคมวิทยาเป็นจำนวนมาก

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เรนเนอร์และพวกสังคมนิยมออสเตรียปฏิเสธไม่ยอมร่วมมือกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ของประเทศต่าง ๆ ที่ลี้ภัยไปอยู่ในต่างแดนเพื่อก่อตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้น ทำให้ออสเตรียไม่มีคณะผู้แทนในต่างแดนและเมื่อสงครามในยุโรปใกล้จะยุติลงจึงเกิดสุญญากาศทางการเมืองในออสเตรีย ขณะเดียวกันรัฐบาลโซเวียตก็ต้องการใช้สถานการณ์นี่จัดตั้งรัฐบาลออสเตรียที่เป็นมิตรกับสหภาพโซเวียตขึ้นมาใหม่ ดังนั้น เมื่อกองทัพแดง (Red Army)* ยาตราเข้าไปถึงกรุงเวียนนาเพื่อทำการปลดปล่อยออสเตรียโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* จึงออกคำสั่งให้ตามหาตัวคาร์ล เรนเนอร์โดยทันที และมอบหมายให้เขาจัดตั้งรัฐบาลขึ้น ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ก่อนการล่มสลายของจักรวรรดิไรค์ที่ ๓ เพียงไม่กี่วัน เรนเนอร์ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลชั่วคราวขึ้นที่กรุงเวียนนา ประกอบด้วยนักการเมืองจากพรรคต่าง ๆ ที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่คือ พรรคสังคมนิยม (Socialist Party ซึ่งฟื้นฟูมาจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยแห่งออสเตรีย) พรรคสังคมประชาธิปไตย พรรคประชาชนออสเตรีย (Austrian People’s Party-ÖVP) ซึ่งเป็นพรรคอนุรักษนิยมสืบทอดมาจากพรรคสังคมคริสเตียนเดิมและพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งออสเตรีย (Communist Party of Austria-KPÖ) และในวันที่ ๒๗ เมษายน รัฐบาลชั่วคราวที่มีเรนเนอร์เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกกฤษฎีกาเพื่อประกาศแยกสาธารณรัฐออสเตรียเป็นอิสระจากเยอรมนีซึ่งเป็นไปตามคำประกาศมอสโก ค.ศ. ๑๙๔๓ (Moscow Declaration of 1943) โดยระบุว่าการผนวกออสเตรียเข้ากับจักรวรรดิไรค์เป็นโมฆะเพราะการผนวกออสเตรียโดยนำซีเยอรมนีเป็น “การรุกราน” และออสเตรียถูกกระทำในฐานะ “เหยื่อ” ของเยอรมนีที่จำต้องยอมรับการผนวกนี้ด้วยความไม่เต็มใจ

 อย่างไรก็ดี แม้ว่ามหาอำนาจฝ่ายพันธมิตรจะให้ความเห็นใจแก่รัฐบาลเรนเนอร์ แต่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษเกิดความระแวงสงสัยว่าสหภาพโซเวียตซึ่งอยู่เบื้องหลังอาจเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรองแก่รัฐบาลสาธารณรัฐออสเตรียจึงลังเลอยู่นาน ฉะนั้น เรนเนอร์จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุดเพื่อแสดงให้ฝ่ายตะวันตกเห็นว่าออสเตรียมีวิถีทางการเมืองในรูปแบบประชาธิปไตยและเป็นดินแดนที่ไม่ถูกแบ่งแยก ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๕ มหาอำนาจทั้งสี่ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพโซเวียต อังกฤษ และฝรั่งเศสจึงให้การรับรองแก่รัฐบาลชั่วคราวของออสเตรีย และในวันที่ ๒๐ ธันวาคม รัฐสภาออสเตรียก็ได้ลงมติเลือกเรนเนอร์เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐออสเตรียที่ ๒ เขาดำรงตำแหน่งนี้จนถึง ค.ศ. ๑๙๕๐

 ในช่วงหลังสงคราม แม้ออสเตรียและกรุงเวียนนาจะถูกแบ่งออกเป็นเขตยึดครอง ๔ เขตโดยมหาอำนาจทั้งสี่ของฝ่ายพันธมิตรในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามเช่นเดียวกับเยอรมนีก็ตาม แต่เรนเนอร์ก็ให้ความร่วมมือกับมหาอำนาจเป็นอย่างดี ทำให้การยึดครองเป็นไปอย่างราบรื่นและออสเตรียได้รับการผ่อนปรนจากมหาอำนาจหลายประการ ในขณะเดียวกัน เขาก็เร่งบูรณะฟื้นฟูประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมืองโดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นพรรคใหญ่ทั้ง ๒ พรรค คือ พรรคประชาชนออสเตรียและพรรคสังคมประชาธิปไตย ทำให้สาธารณรัฐออสเตรียที่ ๒ มีเสถียรภาพดีกว่าสาธารณรัฐออสเตรียที่ ๑ นอกจากนี้ใน ค.ศ. ๑๙๔๗ ออสเตรียยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมในแผนมาร์แชลล์ (Marshall Plan)* ที่สหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือแก่ยุโรปเพื่อการบูรณะฟื้นฟูประเทศในช่วงหลังสงคราม ทำให้ออสเตรียสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว นับว่าเรนเนอร์เป็นผู้มีส่วนวางรากฐานและสร้างความเป็นปึกแผ่นให้แก่ออสเตรีย

 นอกจากผลงานทางด้านการบริหารประเทศและกฎหมายแล้ว เรนเนอร์ยังมีความสามารถในการเขียนหนังสือและบทความประเภทต่าง ๆ เขามีงานเขียนทางด้านรัฐศาสตร์กฎหมาย กิจการสหกรณ์ และสังคมวิทยาในภาษาเยอรมันเป็นจำนวนมาก หนังสือบางเล่มได้รับการแปลออกมาเป็นภาษาอังกฤษ ในบรรดางานเขียนทางวิชาการที่โดดเด่นของเรนเนอร์ ได้แก่ หนังสือชื่อ Rechtsinstitute des Privatrechtsund ihre soziale Funktion. Ein Beitrag zur Kritikdes bürgerlichen Rechts (ค.ศ. ๑๙๐๔) ซึ่งเป็นเรื่องปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม หนังสือเล่มนี้ทำให้เขาได้รับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดาผู้วางรากฐานสังคมวิทยากฎหมาย (sociology of law) นอกจากนี้ยังมีงานเขียนวิจารณ์ปัญหากฎหมาย ปัญหาเชื้อชาติและหลักการในลัทธิมากซ์ (Marxism) อีกหลายเรื่อง และในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ ๑ ยุติลงใหม่ ๆ เรนเนอร์ยังได้ประพันธ์เพลงชาติสำหรับสาธารณรัฐออสเตรียอย่างไม่เป็นทางการในชื่อ Deutschösterreich, du herrliches Land (ออสเตรียเยอรมัน เจ้าช่างเป็นดินแดนเปี่ยมสุข) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของเขาในการรวมประชากรที่พูดภาษาเยอรมันเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี

 คาร์ล เรนเนอร์ รัฐบุรุษของออสเตรียถึงแก่อสัญกรรมในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๕๐ ณ บ้านในพักกรุงเวียนนา ขณะอายุ ๘๐ ปี รัฐบาลได้ประกอบพิธีศพให้แก่เขาอย่างสมเกียรติ และบรรจุศพไว้ ณ ที่ฝังศพประธานาธิบดี ณ สุสานเซ็นทรัลฟรีดโฮฟ (Zentralfriedhof) ในกรุงเวียนนา พร้อมกับยกย่องว่าเขาเป็นบุคคลสำคัญของชาติ ในเวลาต่อมา คาร์ล เรนเนอร์ ยังได้รับการยกย่องจากชาวออสเตรียว่าเป็น “บิดาแห่งสาธารณรัฐ” (Father of the Republic) ด้วย.



คำตั้ง
Renner, Karl
คำเทียบ
นายคาร็ล เรนเนอร์
คำสำคัญ
- กฎหมายราชวงศ์ฮับส์บูร์ก
- กองทัพแดง
- การเจรจาสันติภาพที่ปราสาทแซงแชร์แมง-ออง-เลย์
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- ไซลีเซีย
- ดอลล์ฟุสส์, เองเงลแบร์ท
- แนวร่วมปิตุภูมิ
- โบฮีเมีย
- แผนมาร์แชลล์
- พรรคนาซี
- พรรคประชาชน
- พรรคประชาชนออสเตรีย
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติ
- พรรคสังคมคริสเตียน
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคอนุรักษนิยม
- มหาอำนาจกลาง
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- เยอรมันออสเตรีย
- รัฐสภาแห่งจักรวรรดิ
- เรนเนอร์, คาร์ล
- ลัทธิฟาสซิสต์
- ลัทธิมากซ์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สนธิสัญญาแซงแชร์แมง
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สหภาพเศรษฐกิจแห่งยุโรปกลาง
- ออสเตรีย-ฮังการี
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1870-1950
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๑๓-๒๔๙๓
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
บรรพต กำเนิดคิริ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-